2012-10-18

ใบบัวบก-สมุนไพร


บัวบก (Centella asiatica (Linn.) Urban) เป็นทั้งพืชสมุนไพรและผักพื้นบ้าน ที่คนในแถบเอเชียคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี คนพม่ารู้จักการกินยำใบบัวบก คนมาเลเซียนิยมใช้ใบบัวบกผสมลงในเมนูสลัด ส่วนคนไทยนิยมใช้บัวบกเป็นเครื่องเคียง นิยมกินเป็นผักแกล้มกับลาภ ส้มตำ ซุปหน่อไม้ น้ำพริก หมี่กรอบ หรือก๋วยเตี๋ยวผัดไทย ส่วนคนจีนเน้นการใช้ใบบัวบกเป็นยา ด้วยมีสรรพคุณแก้ช้ำใน ช่วยลดการกระหายน้ำ บำรุงกำลัง ซึ่งก็คล้ายกับในตำรายาไทยที่บอกว่า บัวบกมีรสเฝื่อนขม เย็น มีสรรพคุณช่วยแก้อ่อนเพลีย เมื่อยล้า บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ ขับปัสสาวะ ขับโลหิตเสีย และแก้ช้ำใน

ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อ 31 สิงหาคม ถึง 4 กันยายน ที่ผ่านมา มีการพูดถึงสมุนไพรยอดนิยมแห่งปีที่ จะเป็น Herb of the year และได้ให้นักวิจัย รวมทั้งพ่อหมอแม่หมอพื้นบ้านจากภาคต่าง ๆ และประชาชนทั่วไปมาร่วมกันให้ข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์การใช้สมุนไพรและลงคะแนนเสียงคัดเลือกสมุนไพรเด่นในดวงใจ ผลปรากฏว่า บัวบกชนะคะแนนอย่างท่วมท้น ด้วยความเป็นพืชผักพื้นบ้านที่คนไทยรู้จักดี และมีสรรพคุณที่โดดเด่นด้านการรักษาแผล ต้านการอักเสบ แก้อ่อนเพลีย ช้ำใน แก้ร้อนในกระหายน้ำ เป็นต้น

บัวบก (Asiatic pennywort) เป็นพืชล้มลุก ขึ้นเป็นกอ ลำต้นเลื้อยไปตามพื้นดิน แตกราก และใบตามข้อ เป็นพืชทีมีอายุหลายปี เรามักคุ้นเคยกับใบบัวบก แต่หลายคนกลับไม่เคยรู้และเห็นว่าบัวบกก็มีดอกด้วย ดอกของบัวบกเป็นดอกเดี่ยว หรือเป็นช่อเล็กๆ ประมาณ 3-4 ดอก สีม่วงแดง ผลมีลักษณะแบน บัวบกยังมีชื่อเรียกหลายชื่อต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ผักแว่น ผักหนอก ปะหนะ และเอขาเด๊า

ปัจจุบันบัวบกถือเป็นหนึ่งในสมุนไพรยอดนิยมของชาวตะวันตก โดยเฉพาะในด้านประสิทธิภาพการผ่อนคลาย และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของความทรงจำ เนื่องจากมีการศึกษาทางเภสัชวิทยา เพื่อค้นหาสาระสำคัญหรือสารออกฤทธิ์ต่างๆที่มีอยู่ในใบบัวบกและพบว่า ใบบัวบกมีสารไกลโคโซด์หลายชนิดที่ให้ผลต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั้น ซึ่งจะส่งผลให้การลดความเสื่อมของเซลล์อวัยวะต่างๆของร่างกายได้ นอกจากนี้ยังพบว่า สารไกลโคโซด์ในใบบัวบกยังช่วยส่งเสริมการสร้างคลอลาเจน จึงถูกนำมาใช้ในการกระตุ้นให้แผลสมานตัวได้เร็วขึ้น สารสำคัญที่ว่านี้คือกรดมาดีคาสสิก (madecassic acid) และกรดเอเชียติก (asiatic acid) ซึ่งมีฤทธิ์ในการสมานแผล ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดหนองใน ด้วยเหตุนี้พ่อหมอแม่หมอพื้นบ้านจึงต่างยืนยันประสบการณ์ที่ตรงกันว่า ใบบัวบกสามารถนำมาใช้รักษาแผลสด แผลเรื้อรัง หรือแผลหลังผ่าตัดได้เป็นอย่างดีเพราะบัวบกช่วยลดอาการอักเสบ ทำให้แผลหายเร็ว และรอยแผลเป็นมีขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังนิยมใช้รักษาแผลไฟไหม้ และน้ำร้อนลวกด้วย โดยนำใบบัวบกสดทั้งต้นประมาณ 1 กำมือ มาล้างน้ำให้สะอาดและตำให้ละเอียด เอาน้ำคั้นทาบริเวณที่เป็นแผลเป็นบ่อยๆหรือจะใช้กากพอกด้วยก็ได้ จะช่วยลดอาการอักเสบและทำให้แผลหายเร็วขึ้น

ส่วนการใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกนั้นให้ใช้ใบบัวบกทั้งต้นสดปริมาณ 1 กำมือ ล้างแล้วตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำทาบริเวณที่เป็นแผล ผสมกับน้ำมันมะพร้าวทาวันละ 3-4 ครั้งจนหาย นอกจากรักษาแผลสดแล้ว ใบบัวบกยังสามารถใช้รักษาแผลเก่า แผลเป็นและรักษาโรคเรื้อนกวางได้อีกด้วย โดยนำบัวบกมาดองเหล้าประมาณ 7 วัน แล้วเอายามาทาผิวหนังวันละ 3 ครั้ง สำหรับผู้ที่เป็นโรคตับ ตับโต ตับอักเสบ ให้ใช้ต้นสดน้ำหนักประมาณ 240-550 กรัม นำมาต้มคั้นเอาน้ำขนาดชามใหญ่ดื่มทุกวันจะช่วยให้อาการดีขึ้น ส่วนการแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ หรืออ่อนเพลีย ให้ใช้น้ำคั้นจากใบสด ทำให้เจือจาง แล้วปรุงรสด้วยน้ำตาล ใส่น้ำแข็งดื่มเป็นเครื่องดื่มดับร้อนแก้กระหายได้เป็นอย่างดี

อีกหนึ่งสรรพคุณเด่นของบัวบก ที่พ่อหมอแม่หมอพื้นบ้าน บอกเล่าด้วยความคุ้นเคยก็คือ การใช้แก้อาการฟกช้ำ เพราะบัวบกมีส่วนช่วยให้เลือดกระจายตัว อาการฟกช้ำจึงทุเลา และเนื่องจากมีฤทธิ์เป็นยาเย็นจึงช่วยแก้กระหายน้ำและบำรุงร่างกายได้ด้วย ในประเทศฝรั่งเศสมีการพัฒนายาจากบัวบก โดยผลิตในรูปของครีมทาแดด ยาผงโรยแผล ยาเม็ด รับประทาน พลาสเตอร์ปิดแผลและยาฉีด เพื่อใช้ในการรักษาแผลสดและแผลหลังผ่าตัด ในบ้านเราก็มีผู้การผลิตครีมจากสารสกัดบัวบก เพื่อใช้ทาแผลสดและบริเวณฟกช้ำซึ่งใช้ได้ผลดี

บัวบกยังเป็นสมุนไพรที่ดีสำหรับผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูงด้วย จากประสบการณ์ของหมอพื้นบ้านพบว่าเมื่อดื่มน้ำบัวบกทุกวันเป็นประจำเพียง 1 สัปดาห์ก็จะพบว่าความดันโลหิตลดลงได้ อีกทั้งยังมีสรรพคุณช่วยบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย กระหายน้ำ ขับปัสสาวะ รักษาแผล แก้โรคปวดเมื่อย แก้โรคเรื้อน แก้กามโรค และตับอักเสบอีกด้วย ในขณะที่เมล็ดของบัวบกซึ่งมีรสขมเย็น ถูกใช้เพื่อรักษาอาการบิด แก้ไข้และปวดศีรษะ

มีรายงานการทดลองและวิจัยที่พอน่าเชื่อถือได้ ระบุว่า บัวบกสามารถแก้อาการปวดเมื่อย เจ็บหน้าอก เจ็บหลัง เจ็บเอวได้ด้วย โดยใช้ต้นแห้งบดเป็นผงรับประทานวันละ 3-4 ครั้ง แบ่งรับประทาน 3 ครั้ง หากใช้แก้ตับอักเสบให้ใช้ต้นสด 120 กรัม ผสมน้ำ 500 มิลลิลิตร นำไปต้มให้เหลือ 250 มิลลิลิตร ปรุงด้วยน้ำตาลกรวด 60 กรัม รับประทานขณะที่ยังร้อน โดยแบ่งรับประทาน 2 ครั้ง ตอนท้องว่าง ติดต่อกัน 7 วัน เป็น 1 รอบของการรักษา

นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยที่พบว่า สารสกัดใบบัวบกนั้นมีฤทธิ์ต่างๆกัน ได้แก่

 1.ฤทธิ์ลดการอักเสบ

 2.ฤทธิ์ต้านฮีสตามีน คือ สามารถต้านอาการแพ้ได้ จึงช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด หรืออักเสบเนื่องจากแมลงกัดต่อย

 3.ฤทธิ์แก้ปวด

 4.ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย

 5.ฤทธิ์สมานแผล โดยทำให้การสร้างผิวหนังชั้นนอกเร็วขึ้น และบาดแผลขนาดเล็กลง

 6.ทำให้เลือดหยุดเร็ว

 7.ฤทธิ์ต้านเชื้อรา และ

 8.รักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้

จะเห็นได้ว่า บัวบกนอกจากจะเป็นยาธรรมชาติแล้ว ยังเป็นพืชผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูงด้วย เพราะใบและเถาบัวบกมีรสชาติกรอบมัน จึงใช้รับประทานเป็นเครื่องเคียงได้เป็นอย่างดี สารอาหารที่มีในใบบัวบก ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน กาก แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินบี 1วิตามินบี 2 ไนอาซีน และวิตามินซี

ด้วยเหตุนี้ บัวบกจึงถูกเลือกให้เป็นสมุนไพรแห่งปีที่น่าสนใจมาก เพราะมีทั้งประโยชน์ในทางยา และคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะมีวิตามินเอที่มีปริมาณสูงมาก จึงมีคุณค่าเหนือกว่าผลิตภัณฑ์บำรุงกำลังแพง ๆ เสียอีก บัวบกจึงเป็นพืชอาหารกินเป็นยาที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคความจำเสื่อม (Alzbeimers Disease) เช่น ผู้สูงอายุ สตรีวัยทอง หรือผู้ที่อยู่ในวัยทำงานที่ต้องใช้สมองมาก ผู้ที่มีความเครียดสูงจากการทำงานหนัก ผู้ที่มีความผิดปกติทางผิวหนังและกล้ามเนื้อ โดยมีอาการฟกช้ำ และมีผิวหนังอักเสบ และผู้ป่วยหลังการผ่าตัด เพราะจะช่วยเร่งการสมานแผลได้เป็นอย่างดี