น้ำผักผลไม้-น้ำสมุนไพร ปนเปื้อน"น้ำใบบัวบก"ร้ายสุด
อย.สั่งอายัดนมผงนำเข้าจากจีนเพิ่มอีก 60 ตัน ส่งตรวจหาสารปนเปื้อน ชี้หากไม่ผ่านต้องส่งกลับต้นทาง-ทำลาย พร้อมเก็บตัวอย่างนม-ผลิตภัณฑ์ผสมนมจากจีน ตรวจ 97 ตัวอย่าง พบปนเปื้อนเมลามีนแค่ 2 ตัวอย่าง รอผลตรวจอีก 63 ตัวอย่าง ตะลึง "น้ำผักผลไม้-น้ำสมุนไพร" ทั่วกรุงเปื้อนจุลินทรีย์เพียบ "น้ำใบบัวบก" อันตรายสุดเผยในจำนวนนั้นเกิดจากเชื้อโรคที่ติดมากับมือคนตักขาย
เมื่อวันที่ 30 กันยายน นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รมช.สาธารณสุข แถลงว่าขณะนี้ได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์นม ผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบนมผงจากจีน ได้แก่ ขนมปัง แคร็กเกอร์ (ไส้ครีม) ไอศกรีม เป็นต้น ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน จำนวน 97 ตัวอย่าง ผลการตรวจสอบจาก 34 ตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อนสารเมลามีน 32 ตัวอย่าง ส่วน 2 ตัวอย่างมีการปนเปื้อนเมลามีน ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่นำเข้าจากจีน โดยบริษัทนมยี่ห้อดังแห่งหนึ่ง มีค่าเมลามีนที่ 0.38 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หรือ 0.38 พีพีเอ็ม และ 0.55 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย ส่วนอีก 63 ตัวอย่าง กำลังรอผลตรวจวิเคราะห์
ผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่ได้หนังสือรับรองจากอย.แล้ว ได้แก่ บริษัท ดีทแฮล์ม จำกัด มีผลิตภัณฑ์ 2 ชนิด บริษัท มาร์ส ไทยแลนด์ อิงค์ จำกัด มีผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรอง 7 ชนิด บริษัท ซีโน-แปซิฟิก เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด ได้รับการรับรอง 1 ชนิด และบริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด ได้รับการรับรองไอศกรีม 4 ชนิด
นายวิชาญ เตือนให้ผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากและเครื่องหมาย อย.มารับประทาน ไม่ควรเสี่ยงซื้อผลิตภัณฑ์ที่ลักลอบนำเข้า เพราะไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจาก อย. อาจมีการปนเปื้อนสารที่เป็นอันตรายได้ ดังนั้น จึงได้ตั้งวอร์รูมเพื่อติดตามสถานการณ์และแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที และเพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้บริโภค อย.ได้นำข้อมูลและคำแนะนำสำหรับผู้บริโภคขึ้นเว็บไซต์ www.fda.moph.go.th รวมทั้งรายงานสถานการณ์ความคืบหน้าจากการประชุมวอร์รูมขึ้นเว็บไซต์ทุกวัน
นพ.ชาตรีบานชื่น เลขาธิการ อย. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่ผ่านมา ได้เรียกประชุมหารือผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย จะต้องไม่พบการปนเปื้อนสารเมลามีน และสารในกลุ่มเดียวกัน ได้แก่ กรดไซยานูริก แอมมีไลน์ แอมมีลีน โดยมีเกณฑ์ในการปฏิบัติเนื่องจากอาจมีการปนเปื้อนตามธรรมชาติ จึงกำหนดเกณฑ์ความปลอดภัยอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเมลามีนและสารในกลุ่มเดียวกันไว้ว่า สำหรับนมผงทุกชนิด ต้องไม่เกิน 1 พีพีเอ็ม หรือ 1 ส่วนใน 1 ล้านส่วน หรือ 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีนมหรือองค์ประกอบของนมเป็นส่วนประกอบ ต้องไม่เกิน 2.5 พีพีเอ็ม หรือ 2.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
เลขาธิการอย. ชี้ว่า การนำเข้าอาหารเพื่อจำหน่าย จะต้องมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบของประเทศที่เป็นแหล่งผลิต หรือสถาบันเอกชนที่รับรองโดยหน่วยงานของรัฐที่รับรองประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดแล้ว ที่แสดงให้เห็นว่าไม่มีการปนเปื้อนสารเมลามีนและสารในกลุ่มเดียวกันเกินเกณฑ์ความปลอดภัยที่กำหนด ซึ่งประกาศฉบับนี้หากผู้ประกอบการรายใดฝ่าฝืนประกาศฉบับนี้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน-2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท ทั้งนี้ จะนำเสนอ รมว.สาธารณสุข เพื่อลงนามในประกาศก่อนลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันถัดจากไป ก่อนประกาศจะมีผลบังคับใช้ จะใช้ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 เกี่ยวกับอาหารที่น่าจะเป็นอันตรายเจือปนอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ภก.สาทิศตรีสัตยาเวทย์ ผอ.กองงานด่านอาหารและยา กล่าวถึงการนำเข้านมจากประเทศจีนของบริษัทนมชื่อดัง ว่า อย.ได้อายัดนมนำเข้าจากจีน ซึ่งบริษัทดังกล่าวนำเข้านมจากจีนเมื่อประมาณ 3 ปีมาแล้ว เดิมมีการนำเข้าจากนิวซีแลนด์ แต่เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้ง นมขาดตลาด จึงได้นำเข้าจากจีน นอกจากนมผงที่อายัดไว้จำนวน 22 ตันเพื่อรอผลการตรวจวิเคราะห์ซ้ำแล้ว ขณะนี้ยังมีการอายัดนมผงอีกจำนวน 60 ตัน จาก 4 ลอตที่มีการนำเข้าที่ท่าเรือ หากผลการตรวจวิเคราะห์ออกมามีความปลอดภัยก็สามารถนำนมผงดังกล่าวเข้ามาเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้ แต่ถ้าไม่ผ่านมีการปนเปื้อนเมลามีน จะต้องส่งกลับไปยังประเทศต้นทางทันที หากไม่ส่งกลับ อย.จะนำไปทำลายต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างการแถลงข่าวนพ.ชาตรี ได้สั่งการให้เก็บตัวอย่างนมผง 60 ตัน ส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วย เพื่อเป็นการยืนยันผลการตรวจ
ขณะที่อันตรายจากการบริโภคอาหารปนเปื้อนยังขยายเพิ่มอีกน.ส.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการกองควบคุมอาหาร (อย.) กล่าวว่า จากกระแสความใส่ใจต่อสุขภาพ ทำให้คนไทยหันมาดื่มน้ำผักผลไม้หรือน้ำสมุนไพรกันมากขึ้น แต่น้ำผลไม้และน้ำสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านความร้อนเพียงเล็กน้อย จึงมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนจุลินทรีย์ในทุกช่วงการผลิต โดยเฉพาะหลักการผลิตและการวางจำหน่ายจะมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์มาก เนื่องจากไม่มีกระบวนการฆ่าเชื้อ ดังนั้น อย.จึงได้ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการปนเปื้อนจุลินทรีย์ในเครื่องดื่มสมุนไพร โดยศึกษาการปนเปื้อนจุลินทรีย์ในเครื่องดื่มสมุนไพรในภาชนะที่บรรจุปิดสนิทและพร้อมบริโภคที่จำหน่ายในเขต กทม. 50 เขต
ทั้งนี้น้ำผักผลไม้และน้ำสมุนไพรที่ได้เก็บตัวอย่างสำรวจ 455 ตัวอย่าง ได้แก่ น้ำใบบัวบก น้ำสำรอง น้ำเฉาก๊วย น้ำบีทูรท น้ำกระเจี๊ยบ น้ำเสาวรส น้ำเก๊กฮวย และน้ำจับเลี้ยง ทั้งในแบบภาชนะบรรจุปิดสนิทและตักขาย ผลตรวจวิเคราะห์พบการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์สูงมากถึง 316 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 69.45 โดยแบบบรรจุภัณฑ์ปิดสนิท พบปนเปื้อนจุลินทรีย์มากที่สุดในน้ำใบบัวบกที่พบการปนเปื้อนสูงถึงร้อยละ 97.83 รองมาคือน้ำจับเลี้ยงร้อยละ 90 น้ำเสาวรสร้อยละ 87.88 น้ำบีทรูทร้อยละ 84.61 น้ำเฉาก๊วยร้อยละ 67.35 น้ำสำรองร้อยละ 62.50 น้ำกระเจี๊ยบร้อยละ 55.36 และน้ำเก๊กฮวยร้อยละ 54.69
ส่วนผลการตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนในน้ำผักผลไม้และน้ำสมุนไพรชนิดตักขายพบว่าน้ำสำรองมีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ร้อยละ 100 รองลงมาคือน้ำใบบัวบกร้อยละ 85.71 น้ำเฉาก๊วยร้อยละ 78.51 น้ำเก๊กฮวยร้อยละ 71.05 น้ำกระเจี๊ยบร้อยละ 50 และน้ำจับเลี้ยงร้อยละ 46.15 ส่วนน้ำเสาวรสจากตัวอย่างไม่พบการปนเปื้อนเลย โดยลักษณะการวางจำหน่ายที่มีใช้ถุงพลาสติกบรรจุน้ำแข็งมัดปากถุงวางลงในโหลเพื่อรอตักขาย พบการปนเปื้อนถึงร้อยละ 77.41 ขณะที่น้ำสมุนไพรที่วางจำหน่ายแบบไม่แช่เย็นจะพบการปนเปื้อนเพียงร้อยละ 45.41
นอกจากนี้การปนเปื้อนที่พบดังกล่าว ยังเกิดจากมือของผู้จำหน่ายร้อยละ 65.22 รองมาเป็นภาชนะและอุปกรณ์ร้อยละ 31.25 สำหรับเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนที่พบ ได้แก่ ยีสต์, คอลิฟอร์ม, โมลด์, อีโคไล และสเตปฟิโลคอคคัส ออเรียส บ่งบอกว่ามีการปนเปื้อนอุจจาระ และอาจก่อให้เกิดภาวะท้องร่วงได้ ทั้งนี้ผลการสำรวจนี้ ชี้ว่าในการจำหน่ายน้ำผักผลไม้และน้ำสมุนไพร ควรมีการพัฒนารูปแบบสำหรับการวางจำหน่ายเพื่อให้ผู้บริโภคปลอดภัยจากเชื้อจุลินทรีย์ โดย อย.จะทำการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
น.ส.ทิพย์วรรณ กล่าวต่อว่า จากผลการสำรวจดังกล่าว ชี้ชัดว่าผู้จำหน่ายส่วนใหญ่ขาดองค์ความรู้ ทำให้เกิดการปนเปื้อน ซึ่งการทำน้ำผักผลไม้และเครื่องดื่มสมุนไพรดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นการขายตรงผลิตหน้าร้าน ไม่ต้องขออนุญาต แต่ยังต้องคงในเรื่องความปลอดภัย โดยการปนเปื้อนที่พบชี้ว่า การผลิตยังขาดสุขลักษณะที่ดี เชื้อเหล่านั้นทำให้อาหารเน่าเสียง่าย และอาจก่อให้เกิดปัญหาท้องเสีย แต่ไม่ก่อความรุนแรง เชื้อยีสต์ และโมลด์มาจากอากาศทั่วไป
ส่วนคอลิฟอร์มชี้ว่าไม่ถูกสุขลักษณะ อย่างไรก็ตาม อย.กำลังดำเนินการแก้ไขปัญหา ในปีหน้าจะมีโครงการพัฒนาการจำหน่ายและผลิตน้ำผักผลไม้และน้ำสมุนไพร เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยจะนำร่องในบางพื้นที่ของ กทม. ซึ่งจะมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ พร้อมทั้งจัดทำคู่มือเพื่อให้ผู้ผลิตปฏิบัติตาม ส่วนที่พบว่าน้ำใบบัวบกมีการปนเปื้อนมากที่สุด เนื่องจากเป็นพืชที่อยู่ใต้น้ำ ผู้ผลิตล้างไม่สะอาดเพียงพอจึงเกิดปัญหา