2015-12-01
สมุนไพรหอม “ใบเตย” สรรพคุณชั้นเยี่ยมจากธรรมชาติ
เมื่อพูดถึงใบเตย ต้นเตย คงไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะสีของใบเตยถูกนำไปผสมเป็นอาหารคาวหวานมานมนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากสีสันแล้ว กลิ่นอันหอมหวนโดดเด่นก็เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของใบเตยที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นดับกลิ่นคาวในอาหาร ดับกลิ่นอับในห้อง หรือตู้เสื้อผ้า เพิ่มกลิ่นของขนมและอาหารให้น่าสนใจและเรียกน้ำย่อยได้อย่างดีทีเดียว เราลองมาดูซิว่าสรรพคุณเด่นๆ ด้านอื่นๆ จะมีอะไรอีกบ้าง รวมไปถึงวิธีการนำไปใช้
ลักษณะของเตย
เตยเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว แตกกอเป็นพุ่มขนาดเล็ก ลำต้นเป็นข้อ มีรากค้ำช่วยพยุงลำต้นไว้ ใบเป็นใบเดี่ยวสลับเวียนเป็นเกลียวขึ้นไปจนถึงยอด ลักษณะเป็นใบเรียวยาว ขอบใบเรียบมีผิวมัน ตรงกลางใบเว้าลึกเป็นแอ่ง มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นอีกหลายชื่อ เช่น ส้มม่า(ระนอง) ส้มตะเลงเครง(ตาก) ส้มปู(แม่ฮ่องสอน) ส้มพอดีหรือผักเก็งเค็ง(ภาคเหนือ) เป็นต้น ใบเตยจะมีกลิ่นหอมของน้ำมันหอมระเหย (Fragrant Screw Pine) ซึ่งเป็นกลิ่นหอมจากสารเคมีที่เรียกว่า 2-acetyl-1-pyrroline ซึ่งเป็นกลิ่นเดียวกันกับที่ได้ในข้าวหอมมะลิ ขนมปังขาว และดอกชมนาด
นอกจากนี้ ใบเตยยังเต็มไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุอีกหลายชนิด ใบเตย 100 กรัม จะประกอบไปด้วย เบต้าแคโรทีน 3 ไมโครกรัม วิตามินซี 8 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.2 มิลลิกรัม วิตามินบี 3 1.2 มิลลิกรัม แคลเซียม 124 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 0.1 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 27 มิลลิกรัม คาร์โบไฮเดรต 4.6 กรัม โปรตีน 1.9 กรัมและพลังงาน 35 กิโลแคลอรี่
สรรพคุณของใบเตย
- บำรุงหัวใจ ช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ
- ดับกระหาย คลายร้อน
- กลิ่นของใบเตยทำให้รู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย
- ช่วยชูกำลัง ช่วยแก้อาการอ่อนเพลียของร่างกาย
- ช่วยปรับสมดุลของร่างกาย
- ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- ช่วยลดความดันโลหิต
- ช่วยป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือด
- ช่วยบรรเทาอาการไข้และดับพิษไข้
- ช่วยดับพิษร้อนภายในร่างกาย
- ช่วยรักษาโรคหืด
- เป็นยาแก้กระษัย
- เป็นยาขับปัสสาวะได้
- ช่วยรักษาโรคหัดได้
- ช่วยรักษาโรคผิวหนังได้
ประโยชน์ด้านอื่นๆ
- สีเขียวของใบเตยใช้เป็นสีผสมอาหารคาวหวานได้อย่างดีเยี่ยม
- กลิ่นหอมของใบเตยเป็นส่วนทำให้อาหารน่ารับประทานและเพิ่มรสชาติได้
- ช่วยดับกลิ่นหืนของน้ำมันที่ใช้แล้ว
- ใช้ไล่แมลงสาบ
- ช่วยดับกลิ่นอับชื้นต่างๆ
- เป็นทรีทเม้นท์บำรุงหน้าได้
วิธีการนำไปใช้
- น้ำใบเตย : นำใบเตยสดล้างให้สะอาด 1 กำมือต้มกับน้ำ 4-5 ลิตร จนน้ำออกสีเป็นสีเขียว ใส่น้ำตาลตามใจชอบ สามารถดื่มได้ทั้งร้อนและเย็นตามความต้องการ
– สูตรควบคุมน้ำตาลในเลือด : นำใบเตยหอม 32 ใบ และใบต้นสัก 9 ใบ นำมาตากแดดแล้วนำมาชงเป็นชาดื่มอย่างน้อย 1 เดือนต่อเนื่อง หรือใช้รากเตยประมาณ 1 กำมือ มาต้มกับน้ำดื่มเช้าเย็น อย่างน้อย 1 เดือนต่อเนื่อง
– ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจและบำรุงกำลัง : ใช้ใบสดผสมในอาหารรับประทาน จะทำให้อาหารมีรสเย็น ทำให้หัวใจชุ่มชื่นนำใบสดมาคั้นเอาแต่น้ำรับประทานครั้งละ 2-4 ช้อนแกง
– ขับปัสสาวะ : ใช้ต้นเตย 1 ต้น หรือใช้รากครึ่งกำมือ นำมาต้มน้ำดื่ม
– รักษาโรคผิวหนัง และโรคหัด : นำใบสดมาตำใช้พอกบริเวณที่เป็น
– ทรีทเม้นท์บำรุงหน้า : นำใบเตยสดล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ นำมาปั่นกับน้ำสะอาดจนละเอียด จะได้ครีมข้นเหนียว แล้วนำมาพอกหน้า ทิ้งไว้ 20 นาที
– ใช้ใบสดคั้นเอาน้ำสีเขียวนำไปเป็นสีผสมอาหารได้
– ใช้ใบสดนึ่งกับอาหารหรือขนม หรือต้มกับข้าว จะได้กลิ่นอาหารที่น่ารับประทานมากขึ้น
เพียงเท่านี้ คุณก็จะได้รับประโยชน์จากใบเตยเข้าไปเต็มๆ แก้วแล้วค่ะ แถมยังทำให้สุขภาพดีผิวสวยในตัวอีกด้วย