2012-08-18

สรรพคุณของขิง

 

ขิง

ชื่อสามัญ/ชื่ออังกฤษ Ginger

ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber offcinale Vern. Adrak

วงศ์ Zingiberaceae      

ชื่ออื่น / ชื่อท้องถิ่น ขิงบ้าน ขิงป่า ขิงแครง ขิงเขา ขิงดอกเดียว (ภาคกลาง) ขิงแดง ขิงแกลง (จันทบุรี) ขิงเผือก (เชียงใหม่)


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ขิงเป็นพืชล้มลุก มีลำต้นใต้ดินซึ่งมีลักษณะคล้ายมือหรือที่เรียกว่า "เหง้า" เปลือกเหง้ามีสีเหลืองอ่อน แต่เนื้อภายในมีสีเหลืองอมเขียว ขิงจัดเป็นพืชตระกูลเดียวกับข่า ขมิ้น กระวาน เร่ว ขิงอ่อนมีสีขาวออกเหลือง มีรสเผ็ดและกลิ่นหอม ยิ่งแก่ยิ่งมีรสเผ็ดร้อน ลำต้นบนดินมีลักษณะเป็นกอสูงประมาณ 90 เซนติเมตร ก้านใบเป็นกาบหุ้มซ้อนกัน ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับเรียงกันเป็นสองแถว มีรูปร่างคล้ายใบไผ่ ปลายใบเรียวแหลม ดอกมีสีขาวออกเป็นช่อบนยอดที่แยกออกมาจากลำต้นซึ่งไม่มีใบที่ก้านดอก ดอกมีลักษณะเป็นทรงพุ่มปลายดอกแหลม มีเกล็ดอยู่รอบๆ ดอกจะแซมออกมาตามเกล็ด ผลมีลักษณะกลมแข็ง

สารสำคัญที่พบ

กลิ่นหอมเฉพาะตัวของขิง เกิดจากน้ำมันหอมระเหย (Volatile oil) ในเหง้า ซึ่งมีสารสำคัญคือ เซสควิเทอร์ฟีน ไฮโดรคาร์บอน (SesQuiterpene hydrocarbon) เซสควิเทอร์ฟีน แอลกอฮอล์ (SesQuiterpene alcohols) โมโนเทอร์ฟีนอยด์ (Monoterpenoids) เอสเตอร์ (Ester) ฟีนอล (Phenol) รสเผ็ดร้อนและกลิ่นฉุนเกิดจากน้ำมันชัน (Oleoresin) ในเหง้าเช่นเดียวกัน ส่วนประกอบอื่นๆ คือ แป้งและยางเมือก (Gum) นอกจากนี้ ขิงยังมีสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกายอีก คือ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม วิตามินเอ ฯลฯ

สรรพคุณ

ขิงมีฤทธิ์อุ่น ช่วยขับเหงื่อ ไล่ความเย็น ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยให้เจริญอาหาร และทำให้ร่างกายอบอุ่น ในทางยานิยมใช้ขิงแก่ เพราะขิงยิ่งแก่จะยิ่งเผ็ดร้อนและมีใยอาหารมาก


วิธีใช้เป็นยารักษาโรค

นำเหง้าสดย่างไฟให้สุก ตำผสมกับน้ำปูนใสคั้นเอาแต่น้ำดื่ม หรือนำเหง้าสดหมกไฟรับประทานเมื่อมีอาการเบื่ออาหาร

1. รักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน โดยนำขิงแก่สด ประมาณ 2-3 เหง้า มาทุบพอแตกต้มกับน้ำ

2. รักษาไข้หวัด โดยนำขิงแก่สด 7 กรัม และขิงแห้ง 2 กรัม ต้มกับน้ำตาลทรายแดง ดื่มเพื่อรักษาอาการ หรือใช้ขิงแก่ 2-3 เหง้า นำมาทุบให้ละเอียดต้มกับน้ำอาบเพื่อขับเหงื่อลดอาการไข้เนื่องจากหวัด

3. รักษาอาการไอ ขับเสมหะ โดยนำขิงสดมาคั้นน้ำให้ได้ประมาณครึ่งถ้วย ผสมน้ำผึ้งประมาณ 1 ช้อนชา ต้มกับน้ำ 2 ถ้วย ดื่มวันละ 3 ครั้ง หรือใช้ขิงสดฝนกับมะนาวเติมเกลือเล็กน้อย ใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ

4. รักษาอาการปวดประจำเดือน ในช่วงก่อนหรือระหว่างมีประจำเดือน โดยนำขิงแก่แห้งประมาณ 30 กรัม ต้มกับน้ำดื่มบ่อยๆ

5. แก้อาการท้องเสีย ท้องร่วง โดยใช้ขิงแห้งบดชงกับน้ำอุ่น ดื่มวันละ 1 ครั้ง

6. รักษาแผลที่เกิดจากไฟไหม้หรือถูกน้ำร้อนลวก โดยตำขิงสดให้ละเอียด นำกากมาพอกที่แผลเพื่อบรรเทาอาการอักเสบ เป็นหนอง

7. รักษาอาการปวดฟัน โดยนำขิงแก่ทุบให้ละเอียด คั่วกับน้ำสารส้มจนเกรียม แล้วบดจนเป็นผง พอกบริเวณฟันที่ปวด


ส่วนที่ใช้ประกอบอาหาร

เหง้า หน่ออ่อน เนื้ออ่อนในลำต้น ช่อดอกอ่อน


วิธีใช้ในการประกอบอาหาร

ขิงที่นำมาประกอบอาหารมีหลายรูปแบบคือ ขิงสด ขิงดอง ขิงแห้ง ขิงผง รวมทั้งน้ำขิงที่เป็นเครื่องดื่ม ขิงเป็นเครื่องเทศที่ใช้แต่งกลิ่นอาหาร เพิ่มรสชาติ และดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ เช่น ใช้โรยหน้าปลานึ่ง โรยหน้าโจ๊กหรือผสมในน้ำจิ้มข้าวมันไก่ ต้มส้มปลา แกงฮังเล ยำกุ้งแห้ง ขิงยำ เป็นเครื่องเคียงของเมี่ยงคำ หรือทำเป็นขนมหวาน เช่น บัวลอยไข่หวาน มันเทศต้ม เป็นต้น นอกจากนี้ขิงดองยังเป็นอาจาดในอาหารอีกหลายชนิด เช่น ข้าวหน้าเป็ด หรืออาหารญี่ปุ่น รวมทั้งยังเป็นส่วนผสมในการแต่งกลิ่นอาหารหลายชนิด เช่น คุกกี้ พาย เค้ก พุดดิ้ง ผงกะหรี่ เป็นต้น ในประเทศแถบตะวันตกนำขิงไปทำเป็นเบียร์ คือ เบียร์ขิง (Ginger beer)


ข้อสังเกต / ข้อควรระวัง

1. ขิงแก่มีสรรพคุณในทางยาและมีรสเผ็ดร้อนมากกว่าขิงอ่อน

2. ขิงแก่มีเส้นใยมากกว่าขิงอ่อน

3. ในเหง้าขิงมีเอนไซม์บางชนิดที่สามารถย่อยเนื้อสัตว์ให้เปื่อยได้

4. สารจำพวกฟีนอลิค (Phenolic compound) ในขิงสามารถใช้กันบูดกันหืนในน้ำมันได้