2012-08-14

กล้วยรักษาโรคกระเพาะอาหาร

กล้วย

ชื่อวิทยาศาสตร์ Musa sapientum Linn.

ชื่อท้องถิ่น -

ลักษณะพืช กล้วยเป็นพืชเมืองร้อนและเป็นพืชที่คุ้นเคยกับคนไทยมาช้านาน เพราะเกือบทุกส่วนของกล้วยมีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน กล้วยเป็นพืชล้มลุกที่มีลำต้นตรง รูปร่างกลม มีกาบใบหุ้มซ้อนกัน ใบสีเขียวขนาดใหญ่ ขอบใบขนานกัน ช่อดอกคือหัวปลี มีลักษณะห้อยหัวลงยาว 1-2 ศอก มีดอกย่อยออกเป็นแผง กลายเป็นผลติดกัน เรียกว่าหวี เรียงซ้อนและติดกันที่แกนกลางเรียกว่าเครือส่วนที่ใช้เป็นยา ผลกล้วยดิบหรือผลห่าม

ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บผลกล้วยช่วงเปลือกเป็นสีเขียว ต้นกล้วยจะให้ผลเมื่ออายุ 8-12 เดือน

รสและสรรพคุณยาไทย รสฝาด ฤทธิ์ฝาดสมาน

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ กล้วยดิบประกอบด้วยสารประกอบหลายชนิด คือ Tannin , Serotonin, Norepinephnine, Dopamin และ Catecholamine สารเหล่านี้อยู่ในเนื้อและเปลือกของกล้วยสำหรับกล้วยสุกมี pectin , Essential oil, Norepinephrine และกรดอินทรีย์หลายชนิด


ปี คศ. 1964 Best และคณะ ได้พบว่าผงกล้วยดิบมีฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะหนูขาว ซึ่งเกิดจากการให้ aspirin โดยสามารถใช้ทั้งป้องกันและรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารได้ ในการป้องกันจะใช้ขนาด 5 กรัม ส่วนการรักษาใช้ขนาด 7กรัม และถ้าเป็นสารสกัดด้วยน้ำจะมีฤทธิ์แรงเป็น 800 เท่าของผงกล้วย ผู้วิจัยเข้าใจว่ากล้วยดิบไปกระตุ้นให้เซลล์ในเยื่อบุกระเพาะหลั่งสารพวก mucin ออกมาเคลือบกระเพาะ กล้วยจะดีกว่ายาพวก Aluminium hydroxide, Cimetidine หรือ Postaglandin ซึ่งมีฤทธิ์เฉพาะป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะเท่านั้น แต่ไม่สามารถรักษาแผลที่เกิดแล้วได้

วิธีใช้
นำกล้วยน้ำว้าดิบฝานเป็นแว่นตากแดดประมาณ 2 วัน หรืออบให้แห้งในอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส และบดเป็นผง วิธีรับประทานโดยการนำผงกล้วยดิบครั้งละครึ่งถึงหนึ่งผล ชงน้ำหรือผสมกับน้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ ดื่มหรือนำผงกล้วยดิบมาปั้นลูกกลอน รับประทานครั้งละ 4 เม็ด วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหาร และก่อนนอน รับประทานแล้วอาจมีอาการท้องอืดเฟ้อ ป้องกันได้โดยใช้ร่วมกับยาขับลม เช่น น้ำขิง พริกไทย เป็นต้น

สำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน, “ยาสมุนไพร สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน”