2008-12-30

กล้วย กับ นม ช่วยลดความเครียด

กล้วย กับ นม ช่วยลดความเครียด

ภาวะเครียด? เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการฆ่าตัวตายในสังคมปัจจุบัน โดยกรมสุขภาพจิตชี้ว่า ในรอบ40 ปีที่ผ่านมา จำนวนคนฆ่าตัวตายมีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 60% ซึ่งเป็นการสวนทางกันอย่างสุดขั้วระหว่างความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความตกต่ำของภาวะจิตใจ

ภาวะเครียดถือเป็นปัญหาของคนเมืองที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นทุกปี เช่น ภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล ภาวการณ์ปรับตัวที่ผิดปกติ โดยตั้งแต่ช่วงหลังภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่แตก มีผู้โทรมาขอคำปรึกษาแนะนำทางโทรศัพท์จากหน่วยงานให้บริการคำปรึกษาแนะนำทางโทรศัพท์เป็นจำนวนมาก โดยประเด็นที่ทำให้โทร.มามากที่สุดคือ ?รู้สึกเครียด?...และ ณ ปัจจุบัน โรคเครียดได้กลายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ร้ายแรงที่สุดในขณะนี้

น.พ.พนมทวน ชูแสงทอง จิตแพทย์ และอาจารย์แพทย์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร และวชิรพยาบาล ให้ข้อมูลในงานสัมมนาพิเศษ ?สายสุขภาพไฟเซอร์กับเคล็ดลับฝ่าวิกฤติโรคเครียด? ว่า ภาวะเครียดเป็นเรื่องของจิตใจที่เกิดจากความตื่นตัว เตรียมเผชิญกับเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งไม่น่าพึงพอใจ หรือคาดไม่ถึง เป็นเรื่องที่เราเองคิดว่าหนักหนาสาหัสเกินกำลังความสามารถที่จะแก้ไขได้ ทำให้เกิดความรู้สึกหนักใจ กังวล ไม่สบายใจ หรือแม้แต่คับข้องใจ และส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติทางร่างกายเกิดขึ้น หากว่าความเครียดนั้นมีมากและคงอยู่เป็นระยะเวลานาน

แต่หากเป็นความเครียดที่ไม่มากนัก จะเป็นแรงกระตุ้นที่ดี ช่วยให้คนเราเกิดแรงฮึด มุมานะที่จะเอาชนะปัญหาและอุปสรรคต่างๆ

ในทางตรงกันข้าม หากเรามีความเครียดมากมาย และไม่รู้จักผ่อนคลาย และหากปล่อยไว้นานเข้า อาจมีปัญหาความผิดปกติทางร่างกายและจิตใจได้ในที่สุด ซึ่งสาเหตุของความเครียดมีสาเหตุ 3 ด้าน ได้แก่ สาเหตุทางด้านจิตใจ เช่น ความกลัวว่าจะไม่ได้ดังหวัง กลัวจะไม่ประสบความสำเร็จ หนักใจกังวลใจในงานที่ได้รับมอบหมาย หรือแม้แต่กลัวกังวลสิ่งที่ยังมาไม่ถึง สาเหตุที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในชีวิต เช่น การเปลี่ยนช่วงวัย แต่งงาน การตั้งครรภ์ การเริ่มเข้าทำงานหรือการเปลี่ยนงาน เปลี่ยนที่เรียน สุดท้ายคือสาเหตุจากการเจ็บป่วยทางร่างกาย เช่น การเจ็บไข้ต่างๆ โรคที่รุนแรง และเรื้อรัง หรือโรคที่คาดว่าถึงแก่ชีวิตในที่สุด

น.พ.พนมทวนให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า อาหารคลายเครียด (Food Therapy) คือหนึ่งในวิธีผ่อนคลายความเครียด โดยสารอาหารที่ช่วยลดระดับความเครียดคือ ทริปโตฟาน (1-2 กรัม ก่อนนอน) พบได้ในไข่ ถั่วเหลือง นมวัว เนื้อสัตว์วิตามินบี 6 (40 มิลลิกรัมต่อวัน) พบในธัญพืชต่างๆ ยีสต์ รำข้าว เครื่องใน เนื้อ ถั่ว ผัก วิตามินบี 3(1,000 มิลลิกรัมต่อวัน) พบในตับ เครื่องใน เนื้อ เป็ด ไก่ ปลา ถั่ว ยีสต์ สารอาหารอื่นๆ เช่น แคลเซียม กระเทียมและดอกไม้จีน เป็นต้น

ทั้งนี้ เมนูอาหารคลายเครียดยอดฮิตคือ ช็อกโกแล็ตกับน้ำมะตูมจะช่วยลดอาการกระวนกระวายและอาการตึงเครียดได้ ส่วนกล้วยเชื่อมกับนมสด หากรับประทานก่อนนอนเป็นประจำทุกวันจะช่วยลดอาการตึงเครียดและทำให้นอนหลับสบาย (แต่หากเกรงว่ากล้วยเชื่อมจะทำให้อ้วน สามารถทานกล้วยสดแทนก็ได้เช่นกัน)

นอกจากอาหารคลายเครียดแล้ว การฝึกฝนให้รู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง และการรู้จักปล่อยวาง เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คุณมองทะลุ เข้าใจถึงเหตุและผลของการเกิดอารมณ์ได้เป็นอย่างดี และช่วยให้สามารถควบคุมความเครียดที่กำลังเกิด ณ ขณะนั้น อันจะส่งผลให้คุณไม่ต้องทุกข์ทรมานกับโรคเครียดอีกต่อไป

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์