2015-12-03

เห็ด คุณค่าทางอาหาร สรรพคุณและประโยชน์ของเห็ดมีอะไรบ้าง

หากเอ่ยถึงเรื่องของอาหารเพื่อสุขภาพ แน่นอนว่าเมนูเห็ดย่อมเป็นหนึ่งในอาหารที่หลายๆ คนคิดถึงกันเป็นอันดับแรกๆ ด้วยความที่เห็ดนั้นเป็นอาหารที่มีรสชาติอร่อยถูกปาก ที่ปราศจากไขมัน แคลอรีต่ำ แถมยังมีปริมาณโซเดียมหรือเกลือน้อยมากๆ อีกด้วย เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ร่างกายอ่อนแอหรือกำลังลดน้ำหนักกันอยู่ และสามารถนำมาประกอบอาหารรับประทานกันได้หลากหลายเมนูมากๆ จึงทำให้หลายๆคนต่างติดใจในเมนูเห็ดกันอย่างมากมาย





 
เห็ด (Mushroom) เป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่มีมาช้านานและยิ่งได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเห็ดสดหรือเห็ดตากแห้ง รวมทั้งชนิดบรรจุกระป๋องด้วย และเห็ดทั้งในประเทศและต่างประเทศมีอยู่มากมายหลากหลายสายพันธุ์เลยทีเดียว แต่หลักๆแล้วจะมีการจำแนกกลุ่มของเห็ดออกเป็น 3 กลุ่มคือ – เห็ดชนิดที่รับประทานได้นิยมนำมารับประทานเป็นอาหารเพื่อสุขภาพกัน อาทิ เห็ดนางฟ้า, เห็ดฟาง, เห็ดหูหนู, เห็ดนางรม, เห็ดโคน, เห็ดเข็มทอง ฯลฯ – เห็ดที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพร เนื่องจากมีสรรพคุณทางยา อาทิ เห็ดหอม หรือเห็ดหลินจือ ฯลฯ – เห็ดพิษที่ไม่สามารถรับประทานได้และอาจถึงแก่ชีวิตได้ อาทิ เห็ดระโงกหิน, เห็ดจิก, เห็ดจวักงู, เห็ดสน, เห็ดหมึก, เห็ดหิ่งห้อย ฯลฯ
 
เห็ดคืออะไร? สำหรับนักจุลชีววิทยานั้นจะถือว่าเห็ดนั้นจัดเป็นเชื้อราชั้นสูงชนิดหนึ่ง แต่สำหรับนักเกษตรแล้วกลับมองว่าเห็ดเป็นพืชชั้นต่ำ เพราะไม่สามารถสร้างอาหารขึ้นได้ด้วยตนเอง ซึ่งเห็ดนั้นจะมีการเพาะพันธุ์ด้วยการสร้างสปอร์ ทำให้เกิดเป็นกลุ่มใยราจนกระทั่งเจริญเติบโตขึ้นเป็นดอกเห็ด ซึ่งมีสีสันและรูปร่างของดอกเห็ดตามแต่ละชนิดของสายพันธุ์เห็ดต่างๆ ซึ่งเห็ดนั้นจะมีส่วนประกอบหรือโครงสร้างดังนี้ – หมวกเห็ด คือ ส่วนที่อยู่บนสุดของเห็ด ซึ่งมีรูปร่างและสีสันแตกต่างกันออกไป – ก้านเห็ด คือ บริเวณที่ติดเป็นเนื้อเดียวกับดอกเห็ด ซึ่งคอยรองรับดอกเห็ดให้ชูขึ้นด้านบน – ครีบเห็ด คือ บริเวณที่ทำให้เกิดสปอร์ มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ อยู่ตรงใต้หมวกเห็ด – วงแหวน คือ บริเวณที่เกิดจากเนื้อเยื่อบางๆ ที่ยึดระหว่างก้านดอกกับขอบหมวกเห็ดขาดออกจากหมวกเห็ดเมื่อบาน – เยื่อหุ้มดอกเห็ดหรือเปลือก คือ บริเวณส่วนที่อยู่ด้านนอกสุดที่ทำหน้าที่หุ้มหมวกเห็ดและก้านไว้ เมื่อยังเป็นดอกอ่อนอยู่ และจะเริ่มปริหรือแตกออกเมื่อดอกเห็ดเริ่มขยายหรือบานออก แต่ยังคงมีเยื่อหุ้มอยู่บริเวณโคนของเห็ด เพราะเป็นส่วนที่ไม่ได้มีการขยายตัวออก – เนื้อเห็ด คือ ส่วนที่อยู่ภายในของหมวกเห็ด ซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นใย เปราะ เหนียว และนุ่ม
 
สรรพคุณและประโยชน์ของเห็ด เห็ดนั้นมีอยู่มากมายหลายประเภท ประโยชน์และสรรพคุณของเห็ด หรือคุณค่าทางอาหารจึงมีแตกต่างกันไปตามแต่ละสายพันธุ์ของเห็ด แต่โดยรวมแล้วเห็ดมีประโยชน์มากมาย เป็นได้ทั้งอาหารและสมุนไพรรักษาโรค บำรุงร่างกาย ดังนี้ – ช่วยต่อต้าน ป้องกัน และยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติในร่างกายของเราที่จะก่อเกิดโรคมะเร็งต่างๆขึ้นได้ – ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล และไขมันในเลือดได้ดี – ช่วยให้การทำงานของระบบตับ, ไต และหัวใจ ทำงานได้เป็นปกติอย่างมีประสิทธิภาพ – มีสารอนุมูลอิสระที่ช่วยให้ร่างกายเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายขึ้น ทำให้ร่างกายไม่อ่อนแอหรือเจ็บป่วยง่าย – ช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูง และปรับสภาพความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ – มีไฟเบอร์และกากใยอาหารสูง ทำให้ระบบขับถ่ายสามารถทำงานได้ดี และไม่เสี่ยงต่อการเกิดโรคริดสีดวงทวาร, โรคกระเพาะ หรือมะเร็งลำไส้ – ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้ไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคธาลัสซีเมีย หรือโรคโลหิตจาง – ช่วยสมานแผล และลดอาการอักเสบของเซลล์เนื้อเยื่อต่างๆ – ช่วยให้ระบบสมองและประสาททำงานได้ดี – ช่วยทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดลมในร่างกายดี – ช่วยป้องกันโรคเบาหวาน และโรคภูมิแพ้ – ช่วยให้ร่างกายไม่อิดโรย มีกำลัง กระปรี้กระเปร่า – ช่วยแก้อาการไอเรื้อรังได้ – ช่วยให้ผิวพรรณดูสดใส ไม่หมองคล้ำ และดูมีน้ำมีนวล – ช่วยขับสารพิษหรือสารเคมีต่างๆ ในตับออกจากร่างกาย – เป็นยาอายุวัฒนะ
 
คุณค่าทางอาหารของเห็ด สำหรับเห็ดนั้นเรียกได้ว่าเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าทางอาหารสูงมากๆ และไม่มีไขมัน หรือคอเลสเตอรอล เรียกว่าเป็นได้ทั้งอาหารและยาในเวลาเดียวกันเลยก็ว่าได้ ซึ่งมีสารอาหารต่างๆ ที่จำเป็นแก่ร่างกายเป็นอย่างมาก อาทิ – มีวิตามินซีสูง ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคต่างๆ – ซีลีเนียม เป็นตัวช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ และยับยั้งการเกิดขึ้นของเซลล์มะเร็ง เรียกว่าเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ใกล้เคียงกับวิตามินอีเลยทีเดียว – โพแทสเซียม เป็นตัวที่ช่วยให้ร่างกายเกิดความสมดุล เพราะจะเข้าไปทำให้กระบวนการในระบบประสาทและกล้ามเนื้อทำงานอย่างประสานสอดคล้องกัน และควบคุมในเรื่องของจังหวะการเต้นของหัวใจด้วย – ไนอะซิน ก็จะเป็นตัวควบคุมการทำงานในระบบการย่อยอาหารในกระเพาะ รวมทั้งระบบประสาทต่างๆ ได้ดีด้วย – ไรโบฟลาวิน สารอาหารนี้ก็จะเป็นตัวช่วยในเรื่องของสายตาการมองเห็ด และบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่ง ไม่อิดโรย – วิตามินบีรวม ซึ่งก็ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ระบบการทำงานต่างๆ ภายในร่างกายดีขึ้น และผ่อนคลายความตึงเครียดให้แก่ร่างกาย
 
ซึ่งนอกจากเห็ดโดยรวมแต่ละชนิดจะมีประโยชน์ในตัวเองอย่างมากมายแล้ว การนำเห็ด 3 อย่างขึ้นไป มาต้มรับประทานพร้อมกัน ก็จะยิ่งทำให้ได้ประโยชน์มากกว่าการรับประทานเห็ดเพียงชนิดเดียว เนื่องจากเมื่อนำเห็ด 3 อย่างมารวมกันจะทำให้เกิดค่าของกรดอะมิโนซึ่งอยู่ในระดับที่สามารถต้านทานหรือต่อสู้กับโรคมะเร็งร้ายได้ รวมทั้งขับสารพิษและสารเคมีต่างๆ ที่ตกค้างอยู่ภายในร่างกายของเราออกมาได้ ซึ่งเห็ด 3 อย่างนี้เราก็สามารถเลือกรับประทานกันได้ตามชอบใจ ขอเพียงให้ได้เป็นเห็ด 3 ชนิดมาประกอบอาหารด้วยกันเท่านั้น รายชื่อเห็ดที่สามารถนำมารับประทานได้
จะเห็นได้ว่าเห็ดนั้นจัดเป็นอาหารเพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง แถมยังมีรสชาติที่อร่อย นุ่ม ลื่นลิ้น และยังเป็นอาหารที่หารับประทานกันได้ง่ายตามท้องตลาดทั่วไป หรือซูเปอร์มาร์เก็ดต่างๆ แต่ทั้งนี้ การรับประทานเห็ดก็ควรจะรับประทานในปริมาณที่พอดี ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป เพราะหากรับประทานมากเกินไปจากที่จะได้ประโยชน์อาจกลายเป็นโทษแทนได้
 
 
ที่มา : เกร็ดความรู้ดอทเน็ท
 

ผิวใส สุขภาพดี แบบดับเบิ้ล ด้วยงาดำ – ข้าวสีนิล


ใครจะรู้บ้างว่าธัญพืชสีดำ ๆ อย่าง งาดำและข้าวสีนิล จะเต็มไปด้วยคุณค่ามากมายและมีสรรพคุณหลายอย่าง แถมยังมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายมาก ๆ วันนี้เราจะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับธัญพืชทั้งสองชนิดนี้กัน เชื่อว่า… ใครได้รู้จักแล้ว เป็นต้องหลงเลิฟเลิฟเป็นแน่ เพราะนอกจากดีต่อสุขภาพแล้ว ยังช่วยให้ผิวสวยใส ด้วยนะ คอนเฟิร์ม!!



รู้จักกับ… ข้าวสีนิล
 

ข้าวสีนิล เป็นข้าวที่ได้รับการคัดเลือกจนได้ข้าวที่มีเมล็ดข้าวกล้อ งเรียวยาว สีม่วงเข้ม สารสกัดจากรำข้าวหอมนิล อุดมไปด้วย น้ำมันธรรมชาติ, วิตามินอี และบี คอมเพล็กซ์ และรงควัตถุแอนโทไซยานิน (anthocyanin) มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระมากว่าในเบอร์รี่ 3 เท่า และมากกว่าวิตามินอีถึง 5 เท่าซึ่ง ช่วยให้ผิวดูอ่อนกว่าวัย เรียกว่าลืมเรื่องริ้วรอยก่อนวัยอันควรไปเลย เพราะสารต้านอนุมูลอิสระลดความเสียหายของผิวหนังที่เกิดจากขบวนการออกซิเดชั่น (oxidation) ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดขบวนการออกซิเดชั่น คือ แสงอัลตร้าไวโอเลต ทั้งยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ อาทิ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ ช่วยทำให้เส้นผมดำ นุ่มสลวย ช่วยบำรุงรากผมให้ พร้อมกระตุ้นให้ผมมีสีเข้มขึ้นตามธรรมชาติ ชะลอการเกิดผมหงอกก่อนวัยอันควร
มารู้จักกับ งาดำ กันบ้าง…

งาดำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sesamum orientale L. อยู่ในวงศ์ Pedaliaceae จัดเป็นธัญพืชที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีคุณประโยชน์สูงมาก มีเซซามิน (Sesamin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงเป็นการรับมือโดยตรงกับอนุมูลอิสระตัวร้ายที่ทำลายคอลลาเจนในชั้นผิวนั่นเอง ช่วยให้นอนหลับ ช่วยให้ไม่โทรม ดูมีเลือดฝาด และดูดีได้
 

ว้าว… เรียกได้ว่าเป็นธัญพืชสีดำเมล็ดเล็ก ๆ ที่จิ๋วแต่แจ๋วจริง ๆ แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้เจ้าสองตัวนี้จะดูมีหน้าที่คล้าย ๆ กัน แต่การได้รับสารต้านอนุมูลอิสระจากอาหารหลาย ๆ ประเภทจะให้ผลในการป้องกันมากกว่าการได้รับจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งเนื่องจากมีฤทธิ์สร้างเสริมกัน ทำให้ธัญพืชที่ให้สารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อได้รับร่วมกัน โดยฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระในงาดำ มาจากสารเซซามิน ส่วนข้าวสีนิลมาจากแอนโทไซยานิน ในส่วนของรำข้าว ซึ่งช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ โดยทำหน้าที่เข้าไปจับอนุมูลอิสระ ไม่ให้มาทำร้ายเซลล์ในชั้นผิว ดังนั้นทั้งงาดำและข้าวสีนิลจึงถูกให้ฉายาว่าเป็นราชาและราชินีแห่งธัญพืชในการต้านอนุมูลอิสระ เมื่อรับประทานงาดำคู่กันกับข้าวสีนิลจึงเป็นการส่งผลแบบทวีคูณเป็น Super Antioxidant ซึ่งให้ประสิทธิภาพในการปกป้องผิวจากการเกิดริ้วรอย และ บำรุงให้ผิวดูอ่อนเยาว์ดูดีแบบดับเบิ้ลได้ง่าย ๆ ทุกวัน

ที่มา:kapook.com



ขมิ้นชัน คุณประโยชน์อเนกอนันต์ ทั้งต้านทั้งรักษาโรค




ขมิ้นชัน เป็นพืชสมุนไพรที่มีมาแต่โบราณ แพทย์แผนไทยโบราณได้นำขมิ้นชันมาทำเป็นยาหลายตำรับซึ่งเป็นต้นแบบของยาหลายชนิด ในปัจจุบันนักวิทยาศาตร์ได้ทำการศึกษาค้นคว้าและทดลองถึงคุณสมบัติทางเคมีของขมิ้นชัน (หรือจะพูดให้เข้าใจง่ายๆคือ ศึกษาให้รู้ว่ามีสรรพคุณอย่างไรบ้าง) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ทางเลือกในการปรุงเป็นยาชนิดต่างๆ ซึ่งในประเทศไทยได้ศึกษาค้นคว้ามายาวนาน จนมั่นใจได้ว่าสมุนไพรขมิ้นชันเป็นพืชที่มีประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ จนกระทั่งนำขมิ้นชันขึ้นทะเบียนในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม การเผยแพร่สรรพคุณขมิ้นชันจะเป็นรูปแบบของสรรพคุณอย่างง่ายๆที่ทุกคนหาอ่านได้ทั่วไปตามหนังสือ แต่ในรูปแบบที่เป็นการทดลองจากห้องทดลองยังไม่สามารถหาอ่านได้จากที่ไหน ผมเองจึงได้พยายามสรุปสรรพคุณของขมิ้นชันจากการทดลองทางวิทยาศาตร์มาให้ได้ลองอ่านกันดู โดยใช้ภาษาที่เข้าใจได้ง่าย เพื่อเป็นกันขยายและเพิ่มองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ออกไปให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

ประโยชน์และสรรพคุณขมิ้นชันที่ควรรู้ (สรุปจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์)

1. ต้านการเกิดแผลและสมานแผลในกระเพาะอาหาร

ขมิ้นชันมันมีสรรพคุณในการสมานแผล ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น โดยเร่งการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อที่เป็นแผล น้ำมันหอมระเหยของขมิ้นชัน นอกจากช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารแล้ว ยังช่วยป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร โดยการกระตุ้น mucin มาเคลือบกระเพาะอาหารและยับยั้งการหลั่งน้ำย่อยชนิดต่างๆได้

2. ลดการอักเสบ

มีผลการทดลองว่า ผงแห้ง น้ำคั้นและสารสกัดชนิดต่างๆมีฤทธิ์ในการลดการอักเสบในร่างกายทุกชนิด และสารสำคัญในการออกฤทธิ์ลดการอักเสบ คือ สารที่มีชื่อว่า curcumin และเมื่อนำไปเทียบเคียงกับยาแผนปัจจุบันที่ช่วยบรรเทาการอักเสบที่มีชื่อว่า ฟีนิลบิวทาโซน (ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ข้อ เช่น รูมาตอยด์ เป็นต้น) พบว่า มีฤทธิ์ใกล้เคียงกันในการรักษาอาการอักเสบแบบเฉียบพลัน แต่จะมีฤทธิ์เพียงครึ่งเดียวในการรักษาอาการอักเสบแบบเรื้อรัง

มีการทดลองทางคลินิกในผู้ป่วยที่มีปัญหากระดูกและข้ออักเสบเรื้อรัง จำนวน 42 คน โดยใช้สมุนไพรที่มีส่วนประกอบของเหง้าขมิ้นพบว่า การได้รับสมุนไพรดังกล่าว สามารถลดความเจ็บปวดที่รุนแรงได้

3. ต้านการแพ้

ขมิ้นชันมีฤทธิ์ในการต้านการแพ้ โดยการออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งของสาร histamine ของร่างกายเมื่อมีอาการแพ้

4. ลดการบีบตัวของลำไส้

จากการทดลองทางคลินิกกับคนไข้จำนวน 440 คน อายุเฉลี่ย 48.5 ปี โดยการให้ทานขมิ้นชันทุกวัน วันละ 162 มิลลิกรัม พบว่า ขมิ้นชันมีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ และยังช่วยในการขับลมและแก้อาเจียนด้วย

5. ลดอาการแน่นจุกเสียด

มีการทดลองในผู้ป่วยโรคท้องอืดท้องเฟ้อในโรงพยาบาล 6 แห่ง จำนวน 160 คน โดยรับประทานครั้งละ 2 แคปซูลวันละ 4 ครั้ง พบว่าได้ผลดีกว่ายาขับลมและผู้ป่วยพอใจ ซึ่งน้ำมันหอมระเหยของขมิ้นเป็นสารออกฤทธิ์ในการขับลม

6. ขับน้ำดี

ขมิ้นชันสามารถออกฤทธิ์เพิ่มการขับและกระตุ้นการสร้างน้ำดีได้ ซึ่งน้ำดีเป็นสารสำคัญในกระบวนการช่วยย่อยและดูดซึมอาหารของร่างกาย

7. รักษาอาการท้องเสีย

ตามตำรายาพื้นบ้านของไทย มีการใช้ขมิ้นรักษาอาการท้องเสีย โดยนำผงขมิ้นชันผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอนรับประทานหลังอาหารและก่อนนอน ครั้งละ 3-5 เม็ด วันละ 3 เวลา และในประเทศอินโดนีเซียก็มีการใช้ขมิ้นในการรักษาอาการอุจจาระร่วงเช่นกัน และขมิ้นชันขนาด 1000 มก./ครั้ง/วัน มีผลทำให้อาการท้องร่วงในลูกสุกรระยะดูดนมแม่หายไป

8. ต้านแบคทีเรีย

ทั้งสารสกัดขมิ้นชัน น้ำมันหอมระเหย สาร curcumin และอนุพันธ์มีฤทธิ์ในการต้านแบคทีเรียชนิดต่างๆ เช่น

แบคเรียที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
แบคทีเรียที่ทำให้เกิดเยื้อหุ้มฟันอักเสบ
แบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคท้องเสีย
แบคทีเรียก่อโรคในกุ้ง
แบคทีเรียที่ให้เกิดหนอง

9. ต้านยีสต์และเชื้อรา

ทั้งสารสกัดขมิ้นชัน น้ำมันหอมระเหย สาร curcumin และอนุพันธ์ มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตและฆ่ายีสต์, เชื้อราชนิดต่างๆ เช่น

เชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคผิวหนัง อย่างเช่น โรคกลาก
ยีสต์ที่มีชื่อว่า Candida albicans ซึ่งเป็นเชื้อโรคฉวยโอกาสของผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เบาหวาน เอดส์ เป็นต้น
10. ต้านปรสิต

สารสกัดจากขมิ้นสามารถที่จะฆ่าเชื้ออะมีบา ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคบิดมีตัวได้

11. ป้องกันตับอักเสบ

ขมิ้นชันมีฤทธิ์ในการป้องกันตับอักเสบ

จากการทดลองในหนูขาวพบว่าขมิ้นชันสามารถป้องกันตับถูกทำลายจากใช้ยาพาราเซตามอล
จากการทดลองในหนูขาวพบว่า สาร curcumin จากขมิ้นสามารถป้องกันตับจากการถูกทำลายด้วยเอทานอล โดยเอทานอลจะทำให้ตับทำงานหนัก และทำให้การทำหน้าที่และระดับของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดอนุมูล อิสระเพิ่มขึ้น แต่หลังจากที่หนูขาวได้รับสารสกัดขมิ้นชันร่วมกับการรับเอทานอลแล้ว ตับทำงานน้อยลง รวมถึงการทำหน้าที่และระดับของเอนไซม์ในตับลดลง (เอทานอลเป็นแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งที่ทานได้ ซึ่งเหล้าก็เป็นเอทานอลแบบหนึ่ง)

12. ต้านการกลายพันธุ์ (ต้านมะเร็ง)

ขมิ้นชันมีฤทธิ์ต้านการกลายพันธุ์ ต้านสารก่อมะเร็งที่มีบทบาทสำคัญในโรคที่เกี่ยวกับเบาหวาน และโรคที่เกิดจากการเสื่อมของร่างกาย

13. ต้านความเป็นพิษต่อยีน

ขมิ้นชันมีฤทธิ์ในการป้องกันความเสียหายของ DNA และต้านความเป็นพิษต่อยีน

14. มีสรรพคุณสมานแผล

ผงขมิ้นที่นำมาผสมกับน้ำแล้วทาลงบนแผลพบว่า ช่วยเร่งให้แผลที่ไม่ติดเชื้อของกระต่ายและหนูขาวหายได้ 23.3 และ 24.2% ตามลำดับ และสามารถเร่งให้แผลติดเชื้อของหนูขาวหายได้ 26.2%

การทดลองทางคลินิค โดยทายาสมุนไพรซึ่งมีขมิ้นเป็นส่วนประกอบที่ผิวหนัง พบว่ามีฤทธิ์ในการสร้างเซลล์ผิวขึ้นใหม่ มีผู้ทดลองใช้สาร curcumin จากขมิ้นในการรักษาแผลหลังผ่าตัด 40 ราย พบว่าให้ผลลดการอักเสบได้เหมือนฟีนิลบิวทาโซน การทดลองใช้ขมิ้นหรือยาปฏิชีวนะ ในการรักษาแผลผุพองในผู้ป่วย 60 ราย โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ใช้ขมิ้น และกลุ่มที่ให้ยาปฏิชีวนะ แล้วติดตามดูแผลพุพองหลังการรักษา 21 วัน พบว่าผู้ป่วยทุกรายหายจากโรค และไม่พบภาวะแทรกซ้อนหรือข้อแตกต่างระหว่างการใช้ขมิ้นและยาปฏิชีวนะ

มีการนำสารสกัดของขมิ้น มาพัฒนาตำรับเป็นครีมป้ายปาก แล้วทำการทดลองเพื่อสังเกตฤทธิ์ในการสมานแผล โดยทำการทดลองในอาสาสมัคร 30 คน พบว่าครีมป้ายปากที่มีสารสกัดขมิ้นชัน 1% มีผลทำให้แผลในปากหายภายใน 1 สัปดาห์


ทีมา : GreenShopCafe , สาระสุขภาพยาน่ารู้โดยเภสัชกรอุทัย